วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การออกแบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่คาดว่าจะมีในอนาคต


Reading glasses 3D : แว่นตาอ่านหนังสือ 3 มิติ
"MAKE YOUR VIRTUAL BOOK WITH IT!!!" 


      "เปิดมุมมองและเพลิดเพลินไปกับโลกแห่งหยดหมึก"
              เครื่องตัวนี้ทำงานโดยการประมวณผลข้อมูลที่ได้จากตัวอักษร มาถ่ายถอดในรูปแบบที่เราสามารถเลือกออกแบบการนำเสนอข้อมูลออกมาได้ 
จะมีตัวประมวลผลข้อมูล 2 ตัวคือ
1.ตัวเครื่องที่เป็นตัวรับข้อมูลและส่งข้อมูลนั้นไปยังตัวแว่นตา
2.ตัวแว่นตาที่เป็นตัวแสดงผลข้อมูล โดยแสดงออกมาในรูปแบบภาพ 3 มิติ              
              โดยการนำข้อมูลที่เป็นไฟล์อักษร หรือ ข้อมูลจากหนังสือโดยผ่านการแสกนอักษรเพื่อให้ได้ข้อมูลออกมาในรูปแบบภาพ 3 มิติ เราสามารถเลือกรูปแบบการนำเสนอออกมาได้ว่าจะให้ออกมาในลักษณะไหน เช่น เป็นรูปแบบอักษร ภาพเคลื่อนไหว เสียงหรือแม้กระทั่งออกมาในรูปแบบของตัวละครที่มาจากการออกแบบคาแร็กเเตอร์ตัวเดินเรื่องในหนังสือแต่ละเล่มที่เราสามารถเลือกที่จะออกแบบเองได้ ทำให้เราสนุกเพลิดเพลินและมีมุมมองที่กว้างขึ้นจากการอ่านหนังสือโดยใช้แว่นตาอ่านหนังสือ 3 มิตินี้เข้ามาเป็นตัวช่วยเติมเต็มจินตนาการของคุณให้สมบูรณ์
             "ด้วยหนังสือทุกๆเล่ม คนที่อ่านหนังสือทุกคนอาจไม่ได้เข้าใจเรื่องราวในรูปแบบที่เหมือนกัน ดังนั้นแว่นตาอ่านหนังสือ 3 มิตินี้ก็เปรียบเสมือนปากกาที่ตัวคุณเป็นคนกำหนดวาดเรื่องราวที่แสดงความเป็นตัวคุณออกมานั่นเอง!!!"

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

            ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะหันไปทางใด เทคโนโลยีล้วนแล้วแต่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการดำรงชีวิต การอุปโภคบริโภค การเรียน การทำงาน การติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมทั้งทางด้านการผลิต การขนส่ง การขายสินค้าต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน ทำให้ทุกวันนี้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตอยู่ของคนปัจจุบัน
            แต่อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคนมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ในการใช้งานก็มีทั้งผลกระทบทางด้านบวกและด้านลบ
            ตัวอย่างเช่น
            ผลกระทบทางด้านบวก
             - ด้านความสะดวกสบายของมนุษย์ 
               เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมให้มี ประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้มนุษย์มีเวลาว่างเพื่อใช้ในทางที่เกิดประโยชน์มากขึ้น มีเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ให้ติดต่อกันได้สะดวก มีระบบคมนาคมขนส่งที่รวดเร็วสามารถใช้โทรศัพท์ในขณะเดินทางไปมายังที่ต่าง ๆ มีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งเพื่อการทำงานและการพักผ่อนหย่อนใจ

             - ด้านอุตสาหกรรมการขนส่งและ Logistic
               เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการทำงานทางด้านข้อมูลหรือสารสนเทศ ทำให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นทำให้สายธุรกิจขนส่งและการผลิตที่ต้องเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือวัตถุดิบต่างๆสามารถกระชับกระบวนการดำเนินการ ลดความวุ่นวาย เวลาในการดำเนินการ และสะดวกต่อการวางแผนงานทั้งภายในองค์การและระหว่างพันธมิตรธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันลงไปได้มาก

            - ด้านการส่งเสริมสุขภาพและทางการแพทย์
              คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ 
ทำให้กิจการด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นมากปัจจุบันโรงพยาบาล
หลายๆแห่งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรักษามากขึ้น เข่น การนำเทคโนโลยี Self - Monitoring เข้ามาใช้ในการตรวจรักษาและติดตามความคืบหน้าอาการของผู้ป่วยจากระยะไกล มีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์วัดผลที่มีประสิิทธิภาพและมีขนาดเล็กซึ่งสามารถทำงานเชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลผ่านอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพย์เคลื่อนที่ Smart Phone หรือผ่านเครือข่าย WLAN สำหรับส่งข้อมูลการรักษากลับยังแพทย์เจ้าของไข้ หรือโรงพยาบาล เพื่อใช้ในการติดตามอาการและให้คำแนะนำ เป็นต้น

            - ด้านพลังงาน
              เทคโนโลยีที่ใช้ในด้านพลังงานนั้นมีการใช้อย่างมากหลาย ทั้งในภาคครัวเรือน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสหกรรม ทั้งการผลิตและการขนส่งต่างๆก็ล้วนแล้วแต่ใช้พลังงานด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งในรูปของอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าในครัวเรือน ไปจนถึงระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของผู้ผลิตและจัดส่งพลังงานไฟฟ้า การจัดการการผลิตให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตพลังงาน(อาทิ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล้วนแล้วแต่มาจากการใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นมากในปัจจุบัน(ขวัญกมล สาระบุตร.2545:30)

            - ด้านอุตสาหกรรมการผลิต 
              การผลิตสินค้าในปัจจุบันต้องการผลิตสินค้าจำนวนมาก มีคุณภาพมีมาตรฐาน ซึ่งในปัจจุบันใช้เครื่องจักรทำงานอย่างอัตโนมัติ สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง สินค้าที่ได้มีคุณภาพและปริมาณพอเพียงกับความต้องการของผู้บริโภค ปัจจุบันมีความพยายามที่จะสร้างหุ่นยนต์ให้เข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์

            - ด้านเศรษฐกิจ
              เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง เทคโนโลยีจำเป็นต่ออุตสาหกรรม กิจการค้า ธุรกิจต่าง ๆ กิจการทางด้านธนาคาร ช่วยส่งเสริมงานทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้กระแสเงินหมุนเวียนได้อย่างกว้างขวาง ผู้ผลิตในสายอุตสาหกรรมจะผลิตสินค้าได้มาก ลดต้นทุน ผู้บริโภคก็มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมาก ธุรกิจโดยรวมจำเป็นต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน มีการสื่อสารเกี่ยวข้องกันเกิดระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

            - ด้านสติปัญญาของมนุษย์
              มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์หาทางศึกษาหรือแก้ไขปัญหาเช่น การจำลอง สภาวะของสิ่งแวดล้อม การจำลองระบบมลภาวะ จำลองการไหลของของเหลว การควบ คุมระบบการจราจร หรือแม้แต่การนำเอาคอมพิวเตอร์มาจำลองในสภาพที่เหมือนจริง เช่น จำลองการเดินเรือ จำลองการขับเครื่องบิน การขับรถยนต์ สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เหมือนจริงได้หากมีการผิดพลาดก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย คอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเรียนรู้ของมนุษย์ได้ดี ปัจจุบันมีการนำบทเรียนมาไว้ในคอมพิวเตอร์เรียกว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction : CAI)และคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องมือให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา สมัยใหม่เชื่อมโยงติดต่อทางอินเทอร์เน็ต สามารถเรียกค้นข้อมูลข่าวสารผ่านทางเครือข่าย สามารถเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์หรือเรียนจากที่ห่างไกลได้ถือเป็นหนทางที่ทำให้เกิดสติปัญญาอย่างแท้จริง(ไพโรจน์ ไววานิชกิจ.2557:32)

             - ด้านการสื่อสารและความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
               การสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ช่วยย่นย่อโลกให้เล็กลง โลกมีสภาพไร้พรมแดน มีการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันมากขึ้น เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ทำให้ลดปัญหาในเรื่องความขัดแย้ง ทำให้สังคมไร้พรมแดนมีความเป็นอยู่แบบรวมกลุ่มประเทศมากขึ้น

            - ด้านประชาธิปไตย 
              ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการใช้เทคโนโลยี
สารสนเทศเพื่อกระจายข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของกระจายระบบประชาธิปไตย แม้แต่การเลือกตั้งก็มีการใช้คอมพิวเตอร์รวมผลคะแนน ใช้สื่อโทรทัศน์วิทยุแจ้งผลการนับคะแนนที่ทำให้ทราบผลได้รวดเร็ว


            ผลกระทบทางด้านลบ
            นับตั้งแต่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเป็นไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งหมายถึงการใช้เทคโนโลยีไปในด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนย่อมต้องมีทั้งคุณและโทษ ภาพยนตร์หลายเรื่องได้สะท้อนความคิดของการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในทางลบ ผลกระทบในทางลบเหล่านี้บางอย่างเป็นเพียงการคาดคะเนยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่อย่างไรก็ตามย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้
             ตัวอย่างเช่น
             - ด้านความเจ็บป่วยทางกาย
               เป็นอาการของผู้ใช้ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งเกิดจากการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเวลานานเกินไป ขาดการทำกิจกรรมอื่นๆ หรือการออกกำลังกายที่เหมาะสม

             - ด้านความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เสื่อมถอย
               การใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องเห็นตัว การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือแม้แต่การเล่นเกมที่มีลักษณะการใช้งานเพียงคนเดียว ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นลดน้อยลง ผลกระทบนี้ทำให้มีความเชื่อว่ามนุษยสัมพันธ์ของบุคคลจะน้อยลง สังคมใหม่จะเป็นสังคมที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกันมาก

             - ด้านความวิตกกังวล 
               ผลกระทบนี้เป็นผลกระทบทางด้านจิตใจของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่มีความวิตกกังวลว่าคอมพิวเตอร์อาจทำให้คนตกงานมากขึ้น มีการใช้งานหุ่นยนต์มาใช้งานมากขึ้น มีระบบการผลิตที่อัตโนมัติมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้ แรงงานอาจว่างงานมากขึ้น ซึ่งความคิดเหล่านี้จะเกิดกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น แต่ถ้าบุคคลเหล่านั้นสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีหรือมีการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้นแล้วปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น

             - ด้านค่าใช้จ่าย
               ราคาของอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การรับและส่งข้อมูลด้วยสัญญาณโทรศัพท์แบบ 3G มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรับและส่งข้อมูลด้วยสัญญาณโทรศัพท์แบบ WI-FI การรับและส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามอัตราความเร็วนั้น

             - ด้านความเสี่ยงภัยทางด้านธุรกิจ
               ธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดของธุรกิจฝากไว้ในศูนย์ข้อมูล เช่น ข้อมูลลูกหนี้การค้า ข้อมูลสินค้า และบริการ ต่างๆหากเกิดการสูญหายของข้อมูลอันเนื่องมาจากเหตุอุบัติภัย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือด้วยสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้ข้อมูลหายย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง

             - ด้านอาชญากรรม 
               เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำมาใช้ในการก่อให้เกิด
อาชญากรรมได้ โจรผู้ร้ายใช้เทคโนโลยี
สารสนเทศในการวางแผนการปล้น วางแผนการโจรกรรม มีการลักลอบใช้ข้อมูลข่าวสาร มีการโจรกรรมหรือแก้ไขตัวเลข บัญชีด้วยคอมพิวเตอร์ การลอบเข้าไปแก้ไขข้อมูลอาจทำให้เกิดปัญหาหลาย อย่าง เช่น การแก้ไขระดับคะแนนของนักเรียน การแก้ไขข้อมูลในโรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาพยาบาลคนไข้ผิด ซึ่งเป็นการทำร้ายหรือฆาตกรรมดังที่เห็นใน ภาพยนตร์

              - ด้านการพัฒนาอาวุธ
                ประเทศที่เป็นต้นตำรับของเทคโนโลยีสามารถนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ในการสร้างอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายสูง ทำให้หมิ่นเหม่ต่อสงครามที่มีการทำลายสูงเกิดขึ้นได้

              - ด้านวัฒนธรรมและกระจายข่าวสารที่ไม่เหมาะสม
                คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด การนำมาใช้ในทางใดจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้ จริยธรรมการใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ดังเช่น การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีผู้สร้างโฮมเพจหรือสร้างข้อมูลข่าวสารในเรื่องภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพอนาจาร หรือภาพที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย นอกจากนี้ยังมีการปลอมแปลงระบบจดหมายเพื่อส่งจดหมายถึงผู้อื่นโดยมีเจตนากระจายข่าวที่เป็นเท็จ ซึ่งจริยธรรมการใช้งานเครือข่ายเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังกันมาก(ทศพนธ์ นรทัศน์.2557:34)

             เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทที่สำคัญในทุกวงการ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกด้านความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การเมือง ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาต่างๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะทั้งด้านบวกและด้านลบ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการใช้งานของผู้ใช้งานทั้งสิ้น ดังนั้นเราในฐานะของผู้ใช้งานควรรู้หลักในการใช้งานให้เหมาะสม เพื่อให้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประโยชน์นี้เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง






                                                                บรรณานุกรม

ขวัญกมล สาระบุตร.  "พัฒนาเทคโนโลยีอย่างไรให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน", นักบริหาร.
               22(3) : 29-33 ; กรกฎาคม - กันยายน 2545.
ไพโรจน์ ไววานิชกิจ.  "ปฐมบทโลกกว้าง Internet of Things", Micro Computer.
              32(343) : 29-34 ; กุมภาพันธ์ 2557.
ทศพนธ์ นรทัศน์.  "ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานในการรับรอง Internet of Things ในประเทศไทย", 
              Micro Computer.  32(343) : 35-39 ; กุมภาพันธ์ 2557.